จิตวิทยาของสินค้าราคา 99-199

เชื่อว่าในทุกวันจะต้องมีคนเกิดสงสัย หรือคิดไปเรื่อย โดยเฉพาะเวลาไปซื้อเสื้อผ้าว่าทำไมราคาเสื้อจึงต้องตั้งราคา 99 / 199 หรือ อะไรก็ได้ทำให้ราคามันมีลักษณะเกือบเป็นจำนวนเต็ม เป็นเลขกลมๆ แต่ไม่ให้ถึง อารมณ์ว่า ถ้าจะขาย 499 ทำไมไม่บอก 500 ไปเลยอะไรแบบนี้ คิดว่า 1 บาทที่ลดมามันทำให้สินค้าถูกลงนักหรือไง?
คำตอบคือ ความแตกต่าง 1 บาทในทางคณิตศาสตร์นี้ มีมูลค่ามากกว่า 1 บาทมากในความรู้สึกของผู้ซื้อ

เลข 9 ถือเป็นตัวเลขไม้ตายของนักการตลาดในการกำหนดราคาสินค้า งานวิจัยการตลาดไม่ว่ายุคสมัยไหนก็พิสูจน์ว่า คนเราให้ความสำคัญกับตัวเลขขึ้นต้น มากกว่าตัวเลขลงท้าย (มองเลขราคาจากซ้ายไปขวา) นั่นคือเหตุผลว่า 299 จึงดูมีราคาถูกกว่า 300 มากกว่า 1 บาท และเผลอๆ อาจต่างกันได้ 100 บาทในความรู้สึกเลย

พูดแบบนี้ บางคนคงรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ล้าสมัยมาก มุขเก่า ใครก็รู้ ใครก็ดูเกมนี้ออก เพราะไปตรงไหนก็เจอมุขราคา 99 แต่ก็น่าสนใจว่ามุขนี้ยังคงใช้ได้ผล เราถึงยังเห็นมีการใช้ต่อกันมานั่นเอง

มีงานวิจัยข้างกันด้วยว่า นักการตลาดจะเลือกใช้ราคาที่ลงด้วย 9 ก็ต่อเมื่อเขาต้องการสร้างความรู้สึกว่านี่คือสินค้าลดราคา ขณะที่หากต้องการให้เกิดการ “จดจำ” ตัวเลขราคา พวกเขาจะเลือกใช้ราคาที่ลงด้วย 0 หรือลงด้วย 5 มากกว่า เพราะเกิดการจดจำได้ดีกว่าเลข 9

เรื่องหลักเลข 9 นี้ ไม่ใช่แค่พบเจอได้ในร้านขายเสื้อผ้าทั่วไปหรอกครับ ตัวอย่างนั้นมีให้เห็นเยอะแยะ

ราคาแอพเสียเงิน ราคาอาหาร แพ็คเกจมือถือ แม้แต่คอนโดมิเนียมที่ราคาเป็นล้านบาทแล้ว ก็ยังต้องแอบติดเลข 9

เชื่อเถอะว่ามุกนี้มันยังได้ผล

ปล. มิตรสหายท่านหนึ่งตอนเรียนมัธยมเคยบอกว่า การตั้งราคาลงท้ายด้วยเลข 9 นั้นเป็นข้อกำหนดกลายๆ อันเกิดจากนักการเงินต้องการให้เหรียญเศษสตางค์ มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าราคาสินค้าลงด้วยศูนย์หมดจะมีแต่การใช้ธนบัตร

….ก็น่าคิด