ทำไมหลายบริษัท ถึงนับไตรมาส-ปีการเงิน ไม่ตรงตามปฏิทินทั่วไป?

คำถามหนึ่งที่มีคนถามเรื่อยๆ ใน Blognone เวลาเป็นข่าวผลประกอบการ ก็คือทำไมบริษัทนั้นนี้ ถึงนับไตรมาสและปีการเงินแปลกๆ อย่างเช่น Apple ที่รายงานไตรมาสล่าสุด ตุลาคม-ธันวาคม 2015 ก็เรียกว่า “ไตรมาสที่ 1 ปีการเงิน 2016” ทั้งที่ถ้าว่าตามปฏิทินทั่วไป ก็คือไตรมาส 4 ปี 2015ถ้าไปดูละเอียดของหลายๆ บริษัทจะพบว่ามันมีความหลากหลายมากกว่านั้นมาก ซึ่งก็มีที่มาที่ไปอยู่

ปีการเงิน และไตรมาสตามปีการเงินนั้น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Fiscal Year ซึ่งเป็นไปตามหลักการบัญชีว่า บริษัทต้องทำสรุปงบการเงินออกมาทุก 12 เดือนในระดับรายปี และถ้าเป็นบริษัทในตลาดหุ้น ก็ต้องทำรายงานย่อยออกมาทุก 3 เดือนรายไตรมาส ซึ่งถ้าไม่มีเงื่อนไขอะไร การเริ่มต้นงวดกับปิดงวดตามปฏิทินปกติ มกราคม-ธันวาคม ก็น่าจะเหมาะสม ในตลาดหุ้นไทย บริษัทฯ ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีนี้

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขอนุญาตให้บริษัทฯ สามารถกำหนดปีการเงินแตกต่างออกไป ตามความเหมาะสมและข้อจำกัดของบริษัท (คนละเรื่องกับปีภาษี) โดยปัจจัยหลักก็คือ ความพีคของยอดขายในบางช่วงเวลาตาม seasonal ซึ่งบริษัทก็จะเลือกเลื่อนเวลาปิดงบของปีให้ห่างออกไป เช่นกรณี Apple ยอดขายจะเยอะในช่วงตุลาคม-ธันวาคม เพราะเป็น Holiday ก็เลื่อนไม่ให้ไตรมาสนี้เป็นไตรมาส 4 ที่ต้องทำงบปีด้วย

ในทางกลับกันบางบริษัทก็อาจมองว่า ไตรมาสแบบนี้สิ ที่ควรเป็นไตรมาสปิดปี เลขจะได้สวยๆ ซึ่งก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามในทางบัญชีไตรมาสที่ขายของได้เยอะ ก็ย่อมมีภาระงานทางบัญชีเยอะขึ้นมากกว่าปกติด้วย

ตัวอย่างที่อธิบายเรื่องนี้ได้และอาจจะชัดเจนกว่าคือ Oracle ซึ่งนับไตรมาสแรกของปีการเงินล่วงหน้ากันตั้งแต่เดือนมิถุนายน (งวดล่าสุดที่จะรายงานคือ ธันวา-กุมภา) ถ้าให้เดาเหตุผล ก็เพราะน่าจะมีกิจกรรมทางบัญชีเยอะในเดือนธันวาคมและมิถุนายน จึงต้องให้เดือนนั้นเป็นเดือนต้นงวด เพื่อให้มีเวลาเคลียร์ตัวเลขนานขึ้นก่อนออกรายงานตามกำหนด

กรณีของบริษัทญี่ปุ่น มักจะเริ่มปีการเงินเดือนเมษายน เพื่อให้สอดคล้องกับปีงบประมาณของรัฐบาล ทำให้หุ้นบริษัทญี่ปุ่นอย่างเช่น TMW หรือ KYE เริ่มไตรมาสแรกเดือนเมษายนเช่นกัน

พอเจอคำถามบ่อยเลยพยายามแก้ปัญหา โดยใส่รายละเอียดต้นข่าวให้เยอะที่สุด เช่นใส่คำว่าตามปฏิทินการเงินบริษัท แล้วก็ระบุช่วงเวลาให้ชัดเจน ตอนอ่านก็จะได้ไม่งงครับ