นอกจากการสร้างกระแสแบบใหม่ สไตล์อิชิตัน นี่ยังเป็นการทำไอพีโอครั้งที่สองของเสี่ยตัน ภาสกรนที เขานำบริษัท โออิชิ เข้าตลาดหุ้นในปี 2547 และขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้ไทยเบฟเวอเรจในปี 2551 เวลาผ่านมา 10 ปี เขากำลังนำอิชิตันกลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง หลายคนจึงพยายามคาดเดาเก็งกำไรในเชิงพื้นฐานถึงอนาคตว่าอิชิตันจะเดินไปอย่างไรในตลาดหุ้น (ฮา)
เหมือนเช่นเคย มาดูข้อมูลในเอกสารไฟลิ่งของบริษัทอิชิตัน เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานและเรื่องราวของกิจการนี้กันครับ

1. ภาพรวมและพัฒนาการธุรกิจ
- เดิมจดทะเบียนในชื่อ บริษัท ไม่ตัน ในปี 2553 เพื่อทำธุรกิจร้าน Tokiya และ Melt Me
- เริ่มทำเครื่องดื่ม ดับเบิ้ลดริ๊งค์ เดือนมกราคมปี 2554 และชาเขียว เดือนพฤษภาคม โดยการวิธีจ้างบริษัทภายนอกผลิต
- ตุลาคม 2554 โรงงานที่โรจนะ อยุธยา ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบการผลิตประสบปัญหาน้ำท่วม แม้ได้เงินประกัน แต่ขาดทุนสุทธิจากการขายอุปกรณ์ 50.5 ล้านบาท
- บริษัทขายธุรกิจอาหารทั้งหมดออกในปี 2556 เพื่อให้อิชิตันโฟกัสเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่ม (ข้อนี้สำคัญ อิชิตัน ไม่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารใน Arena 10 นั่นเอง)
- ปัจจุบันโรงงานอยุธยา มี 3 สายการผลิตขวด (600 ล้านขวด/ปี) และ 2 สายการผลิตกล่อง (200 ล้านกล่อง/ปี)
- Strategy บริษัทคือการเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มคุณภาพสูง มีรสชาติที่ถูกใจคนไทย (สังเกตว่า ไม่เน้นความเป็นญี่ปุ่นแบบตอนโออิชิ)
- ปัจจุบันมีเครื่องดื่มจำหน่ายทั้งหมด 21 รสชาติ
- บริษัทมีจำนวนพนักงาน ณ สิ้นปี 2556 รวม 211 คน
2. การจัดจำหน่าย
- บ.อิชิตันทำกิจกรรม ผลิต-การตลาด-สร้างแบรนด์ เท่านั้น และไม่ทำส่วนการจัดจำหน่ายเอง
- บริษัทจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งมีทั้งหมด 3 รายคือ
- (1) DKSH Thailand เน้น Modern Trade คิดเป็น 74% ของยอดขาย
- (2) บ.ไอแอมกรีนที คิดเป็น 16% ของยอดขาย เน้นร้านค้าเครือข่ายซาปั๊ว ร้านอาหาร บริษัทนี้ถือหุ้น 80% โดยพี่สาวคุณตัน ซึ่งเดิมทำธุรกิจจัดจำหน่ายผ่านช่องทางซาปั๊วให้ให้โออิชิ ส่วนอีก 20% เป็นของตระกูลไตรพฤกษ์
- (3) บ.บุญรอดเอเชีย คิดเป็น 10% ของยอดขาย เน้นเครือข่ายยี่ปั๊ว และร้านในเครือข่ายของบุญรอดฯ
- ทั้งนี้ผู้จัดจำหน่ายแต่ละรายมีพื้นที่การขายแบ่งแยกชัดเจน ไม่มีการทับซ้อน
3. เงินกู้
- บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งหมด 4,572.6 ล้านบาท
- หนี้สินหลักเป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินรวม 3 ธนาคาร ยอดค้างชำระ ณ สิ้นปี 2556 รวม 2,937.6 ล้านบาท
- มีเงินกู้ยืมระยะยาวในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินจากคุณอิง ภรรยาคุณตันอีก 1,000 ล้านบาท (ดอกเบี้ย 4% ต่อปี)
- D/E ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ 2.3 เท่า แต่หากหักรายการกู้ยืมคุณอิง จะเหลือ 1.2 เท่า
- สัญญาเงินกู้มีเงื่อนไขเพิ่มเติม อาทิ D/E ต้องไม่เกิน 2.5X, ต้องรักษาอัตราความสามารถชำระดอกเบี้ย 1.25X, คุณตันและครอบครัวต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 30% หลังเข้าตลาดฯ
4. ค่าใช้จ่ายการขาย-การบริหาร
- บริษัทมีข้อกำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการขายต้องไม่เกิน 15% ของยอดขาย โดยในปี 2556 อยู่ที่ 14.4% (931.2 ล้านบาท)
- เงินเดือนคุณตัน-คุณอิง ในปี 2556 รวมทั้งสองคนตลอดปีอยู่ที่ 12 ล้านบาท
- บริษัทมีแผนลดการผูกติดแบรนด์กับคุณตัน โดยคุณตันจะลดการมีส่วนร่วมในโฆษณาภายใน 2 ปีข้างหน้าเหลือไม่เกิน 40% และ 20% ตามลำดับ
5. โครงสร้างผู้ถือหุ้น
- หลังเข้าตลาดฯ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจาก IPO 23.1%
- กลุ่มนายตันและนางอิง ภาสกรนที (9 คน) ถือหุ้นรวม 39.6%
- กลุ่มผู้ถือหุ้นแทนนายตัน ภาสกรนที (6 คน) ถือหุ้นรวม 21.0% รวมสองกลุ่มนี้เป็น 60.4%
- หุ้นส่วนที่เหลือถือโดยผู้หุ้นรายใหญ่อีก 2 คน และพนักงานบริษัทกลุ่มหนึ่ง
- ข้อสังเกต: ผู้ถือหุ้นแทนคุณตัน 6 คน ในไฟลิ่งฉบับแรกๆ ระบุว่าถือเพื่อเตรียมโอนหุ้นเข้ามูลนิธิตันปัน แต่ในไฟลิ่งฉบับสุดท้ายไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้
6. งบการเงิน
- บริษัทมีรายได้จากการขายก้าวกระโดดมาก ปี54-56 คือ 1,056.8 3,906.8 และ 6,484 ล้านบาทตามลำดับ
- ส่วนแบ่งการตลาดสิ้นปี 2556 อยู่ที่ 42.1%
- อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นตลอด ปี54-56 อยู่ที่ 12.2% 26.6% และ 31.8% ตามลำดับ ซึ่งมาจากการได้ประโยชน์ต่อหน่วยในการผลิตที่ลดลง
- ปี54 ขาดทุนเบ็ดเสร็จ 791 ล้านบาทจากค่าเสียหายน้ำท่วม ปี55 กำไร 697.7ล้านบาท และปี56 881.7 ล้านบาท
- กำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2556 อยู่ที่ 0.9 บาทต่อหุ้น
- สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นที่ดินและเครื่องจักร
- ปี 56 ROA อยู่ที่ 15%, ROE 66.7%
- งบปี 54 ตรวจโดย JT Audit ส่วนปี 55-56 ตรวจโดย KPMG
7. รายละเอียดหุ้นไอพีโอ
- หุ้นไอพีโอ 300 ล้านหุ้น รวมมีหุ้นทั้งหมด 1,300 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท
- ราคาเสนอขายหุ้นละ 13 บาท รวมเป็นมูลค่า 3,900 ล้านบาท
- เสนอขายนักลงทุนสถาบัน 80ล้านหุ้น, ทั่วไป 150ล้านหุ้น, ผู้มีอุปการคุณ 70ล้านหุ้น
- P/E Ratio 19.2 เท่า (MALEE 16, OISHI 34, TIPCO 33, HTC 13)
- บ.หลักทรัพย์เอเชียพลัสเป็น Lead Underwrite และ FA
8. การใช้จ่ายเงินจากการขายหุ้นไอพีโอ
- ชำระหนี้สถาบันการเงิน 1,500 ล้านบาท (ทำให้ D/E ลดลงเหลือ 1.x)
- ชำระคืนเงินกู้ยืมคุณอิง 1,000 ล้านบาท
- ขยายโรงงานเฟส 2 บางส่วน 800 ล้านบาท (ที่เหลือใช้เงินกู้)
- เป็นเงินทุนหมุนเวียน 600 ล้านบาท
หุ้นบริษัท อิชิตัน ใช้ตัวย่อ ICHI จะเข้าซื้อขายใน SET หมวดอาหารและเครื่องดื่มด้วยเกณฑ์ Profit Test โดยเริ่มซื้อขายวันแรก จันทร์ที่ 21 เมษายนนี้ ... อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยงและเงินใครเงินมันนะครับ :)
No comments:
Post a Comment