
ธุรกิจของ PIMO
ไพโอเนียร์ มอเตอร์ ก่อตั้งในปี 2544 ประกอบธุรกิจผลิตมอเตอร์สำหรับลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีลูกค้าทั้งกลุ่มผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ (แอร์) ตลอดจนมอเตอร์สำหรับภาคอุตสาหกรรม และมอเตอร์สำหรับเครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง สระน้ำและสปา
รายได้หลักประมาณ 50% ของบริษัทมาจากการผลิตมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการแบบ OEM (ตามคำสั่งจ้าง) นำไปใช้ทั้งในเครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ และอื่นๆ ซึ่งมีลูกค้าแบรนด์ดังๆ หลายราย ในไฟลิ่งก็บอกรายชื่อมาพอสมควรตามนี้เลย

รายได้อีก 35% ของบริษัทมาจากการขายมอเตอร์สำหรับเครื่องสูบน้ำ ปั๊มน้ำ สระ สปา ซึ่งบริษัทก็ให้ข้อมูลว่าพวกลูกค้าสระน้ำ-สปา ส่วนใหญ่เป็นต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ส่วนอีก 15% เป็นการขายมอเตอร์สำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้สำหรับกิจกรรมการเกษตร

อย่างไรก็ตามในความเสี่ยงตอนหนึ่ง บริษัทก็ระบุว่ามอเตอร์เป็นกิจกรรมการผลิตที่ไม่ซับซ้อน จึงมีความเสี่ยงจากผู้เล่นในประเทศอย่างเช่นจีน
ว่าด้วยการผลิต
PIMO มีกิจกรรมหลักคือการเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ ไฟลิ่งเลยมีข้อมูลเรื่องการสายการผลิตค่อนข้างเยอะและน่าสนใจ อย่างแรกคือมอเตอร์นั้นใช้วัตถุดิบสำคัญคือ ลวดทองแดง และเหล็กซิลิคอน บริษัทระบุว่าต้นทุนส่วนนี้มีราคาแปรผันตามราคาตลาดโลก จึงใช้วิธีติดตามราคาอย่างใกล้ชิดเพื่อการบริการสต็อกที่เหมาะสม โดยสำหรับลวดทองแดงและเหล็กซิลิคอนนั้นจัดซื้อจากผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ แต่วัตถุดิบอื่นเช่น คาปาซิเตอร์ ลูกปืน มีบางส่วนซื้อกับต่างประเทศ
เนื่องจากมีการซื้อขายเป็นสกุลต่างประเทศอยู่ด้วย (ลูกค้าเป็นต่างประเทศ 25%) PIMO จึงมีการซื้อ Forward ไว้จำนวนหนึ่ง โดยปีที่แล้วซื้อไว้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลในส่วนการผลิตโรงงานมีส่วนหน้าสนใจคือ สายการผลิตใช้คนงาน 252 คน ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 8:00-17:00น. ไม่ได้รัน 24 ชั่วโมง ส่วนอัตราการผลิตก็ไม่ได้เต็มกำลัง ซึ่งไฟลิ่งชี้แจงข้อมูลส่วนนี้ไว้ยาวมาก ตัวเลขมีความน่าสนใจดีครับ

งบการเงิน
เริ่มด้วยงบแบบส่วนสรุปก่อน

เมื่อกี้ดูส่วนกำลังการผลิต อาจจะดูไม่น่าสนใจมาก แต่จะเห็นว่า ปี 55-57 รายได้และกำไรบริษัทก็โตตลอดเลย ยังมีข้อมูลส่วนอื่นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ
- เงินสด สิ้นงวด Q1/58 มีอยู่ 1.68 ล้านบาท (0.48% ของส่วนสินทรัพย์) ที่ลดลงมาอย่างมากเพราะว่า มีการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเดิม ออกมาถึง 86.1 ล้านบาท สำหรับงวดการเงินปี 2557 ในเดือนมีนาคม 2558
- สินทรัพย์ ประมาณ 50% เป็นลูกหนี้การค้าและสินค้าคงเหลือ
- เงินกู้ระยะสั้นสถาบันการเงินมีอยู่ 30 ล้านบาทเต็มวงเงินตลอด
- ไม่มีเงินกู้ยืมระยะยาว
ไอพีโอ
- เพิ่มทุน 120 ล้านหุ้น หุ้นละ 1.30 บาท (พาร์ 0.25) คิดเป็น 23.08% ของหุ้นทั้งหมด
- P/E ราคาเสนอขาย 18.24 เท่า (SNC 11.95, CIG 8.95, KKC 20.62, KYE 6.46)
- เข้าเทรดใน mai หมวดสินค้าอุตสาหกรรม
- เงินจาก IPO ประมาณ 60 ล้านบาท นำไปลงทุนเครื่องจักร อีก 90 ล้านบาทนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน
- หลังไอพีโอ กลุ่มครอบครัวอิทธิโรจนกุล จะยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่คิดเป็น 76.92% ก็คือส่วนที่นอกเหนือ IPO นั่นเอง
- แอสเซทโปร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ส่วนโนมูระ พัฒนสิน เป็นอันเดอร์ไรท์
ดูแล้ว PIMO เป็นบริษัทไซส์เล็ก เรื่องราวธุรกิจอาจจะไม่หวือหวา แต่ก็ดูมั่นคงดี ก็ต้องปิดท้ายเช่นเดิมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
No comments:
Post a Comment