ประเด็นที่ถกเถียงกันมาก และพาลเดือดร้อนมาถึงราคาหุ้นกลุ่มสื่อสาร แถมลากดัชนีซ้ำก็คือ ราคาใบอนุญาตที่ประมูลกันรอบนี้แพงเกินไปหรือไม่
![]() |
การประมูลคลื่น 1800MHz ที่ผ่านมา (เครดิตภาพ) |
ถ้าคิดแบบอิงอดีตก็ต้องบอกว่าแพงมาก เพราะการประมูลคลื่น 2100MHz (หรือที่เรียกประมูล 3G) เมื่อสามปีที่แล้ว จบลงที่ใบอนุญาตละประมาณ 14,000 ล้านบาท อายุ 15 ปี (AIS ยอมบิดแพงกว่านิดหน่อย) เทียบกับราคารอบนี้ก็ต้องว่าแพงจริงๆ แต่พอไปดูในรายละเอียดแล้ว ราคานี้อาจยังไม่ถือว่าแพงก็ได้ ... โดยเฉพาะกับ AIS...
ก่อนอื่นมาดูโครงสร้างรายได้-ต้นทุน ของผู้ให้บริการมือถือก่อน
รายได้ของผู้ให้บริการนั้นหลักๆ มีสองส่วน คือรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โทร-เน็ต-โรมมิ่ง-ต่างประเทศ-บริการเสริม) กับรายได้จากการขายอุปกรณ์โทรศัพท์ ซึ่งข้อหลังเราจะไม่พูดถึงเพราะจะขายมือถือหรือไอโฟนมากน้อย ก็ไม่ได้เกี่ยวกับใบอนุญาต-สัมปทานโดยตรง
ทีนี้มาดูต้นทุน เดิมทีผู้ให้บริการมือถือนั้นล้วนอยู่ในระบบสัมปทานกับ CAT และ TOT ซึ่งมีรายละเอียดย่อยต่างกันไป แต่รวมๆ คือผู้ให้บริการจะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ วางโครงข่ายเอง จากนั้นก็ให้บริการ และเมื่อสิ้นสุดสัมปทานก็โอนอุปกรณ์โครงข่ายให้กับผู้ให้สัมปทาน โดยผู้ให้บริการจะจ่ายค่าธรรมเนียมสัมปทานตามเงื่อนไขสัญญา ซึ่งกรณีของ AIS ที่ทำ TOT นั้นมีกรอบคร่าวๆ คือ รายได้จากลูกค้ารายเดือน จ่ายค่าธรรมเนียม 30% ของรายได้ ส่วนลูกค้าเติมเงินจ่าย 20% ของรายได้
พอมาดูระบบใบอนุญาต ซึ่งจะต่างออกไป เพราะไม่มีคู่สัมปทานแล้ว ผู้ให้บริการประมูลใบอนุญาตและชำระเงินทั้งหมดภายใน 2-3 ปีแรก (แต่การลงบัญชีจะหารเป็นเส้นตรงตามอายุใบอนุญาต) และมีภาระจ่ายส่วนแบ่งอีก 5.25% ของรายได้ กับ กสทช.
- ระบบสัมปทาน : ต้นทุนคือค่าลงทุนโครงข่าย (ค่าเสื่อมอุปกรณ์) + ส่วนแบ่งคู่สัมปทาน 20-30%
- ระบบใบอนุญาต : ต้นทุนคือค่าลงทุนโครงข่าย (ค่าเสื่อมอุปกรณ์) + ค่าใบอนุญาต + ส่วนแบ่ง 5.25%
ตามหลักบัญชี 101 ตามภาพด้านล่าง ข้อดีของการที่มีต้นทุนแบบคงที่สูง ก็คือเมื่อขายสินค้าได้เยอะ กำไรก็จะเยอะมากขึ้นกว่าแบบมีต้นทุนแปรผันสูง (แต่อย่าลืม ในทางกลับกัน...)
![]() |
(Source) |
ประเทศไทยเริ่มมีระบบใบอนุญาตแบบเต็มตัวในปี 2556 นี้เอง ลองมาดูผลประกอบการ AIS ในช่วง 10 กว่าปีย้อนหลัง โดยผมตัดมาคิดแค่ส่วนการให้บริการมือถืออย่างเดียว จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2556 ที่เริ่มโอนลูกค้ามาอยู่บนใบอนุญาตนั้น ต้นทุนค่าธรรมเนียมบริษัทก็ลดลงไปมากตาม (และกำไรก็มากขึ้น) นั่นหมายความว่า AIS ยังพอมีพื้นที่สำหรับการใส่ต้นทุนเข้าไปได้อีก อย่างปี 2558 ดูแล้วค่าธรรมเนียมอาจต่ำกว่าหมื่นล้านเป็นปีแรกได้เลย
ผลการดำเนินงานย้อนหลังของ AIS เฉพาะส่วนให้บริการมือถือ (คลิ้กที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น) |
ลองคำนวนต้นทุน AIS จากนี้ดูคร่าวๆ
- ค่าธรรมเนียม 5.25% ตีรายได้ปีละ 1.2 แสนล้าน อยู่ที่ 6,300 ล้านบาท
- ใบอนุญาต 2100MHz 15 ปี ตกปีละ 975 ล้านบาท
- ใบอนุญาต 1800MHz 18 ปี ตกปีละ 2,277 ล้านบาท
ทีนี้อาจสงสัยว่าทำไมต้องยกกรณี AIS ไม่พูดของทรูมูฟ สาเหตุก็คือการที่ธุรกิจมีต้นทุนเปลี่ยนเป็นแบบ Fixed Cost นั้น กำไรจะสูงก็ต่อเมื่อบริษัทมีรายได้ที่สูงมาก ก็คือต้องมีลูกค้าเยอะ ซึ่งด้วยมาร์เกตแชร์มากกว่า 50% ปัจจุบัน นั่นคือ AIS จึงเป็นผู้ประมูลที่สามารถต่อราคาใบอนุญาตได้มากกว่าคนอื่น ขณะที่ทรูมูฟจะคุ้มการลงทุนก็ต้องหาลูกค้าให้มากขึ้นกว่านี้ด้วยเช่นกัน
นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมมิตรสหายบางท่านจึงบอกว่า ต่อให้ราคาใบอนุญาตแพงกว่านี้ AIS ก็จ่ายไหว ... เพราะแพงกว่านี้ก็เคยจ่ายมาแล้วครับ
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่มีเจตนาชี้นำหรือชักชวนในการลงทุน โปรดศึกษาข้อมูลให้ละเอียดด้วยตนเองอีกครั้งก่อนตัดสินใจครับ
No comments:
Post a Comment